การประกอบพีซีสำหรับเล่นเกมตั้งแต่เริ่มต้นเป็นวิธีการที่แน่นอนที่สุดที่ทำให้มั่นใจว่าระบบของคุณจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการส่วนตัวของคุณได้อย่างครบถ้วน เมื่อคุณตัดสินใจเกี่ยวกับทุกสิ่งที่จะใส่เข้าไปในพีซีโดยเริ่มตั้งแต่พาวเวอร์ซัพพลายได้แล้ว คุณก็จะรู้ได้ว่าคุณจะสามารถเล่นเกมที่ต้องการเล่นในอัตราเฟรมที่ต้องการได้ นอกจากนี้พีซีแบบประกอบใช้งานที่บ้านนั้นเปิดกว้างสำหรับการอัปเกรดเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการและความชอบในการเล่นเกมของคุณเปลี่ยนแปลงไป หรืองบประมาณของคุณเพียงพอ
แม้ว่าการประกอบพีซีอาจดูซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณทำงานภายในแชสซีเป็นครั้งแรก แต่คุณอาจพบว่านี่เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าที่คุณคิดเยอะ คู่มือแนะนำแบบทีละขั้นตอนที่ครอบคลุมนี้จะพาคุณสำรวจกระบวนการประกอบเครื่องพีซีสำหรับเล่นเกมของคุณ พร้อมกับมีเคล็ดลับมากมายสำหรับทุกขั้นตอนจากนักประกอบพีซีผู้เชี่ยวชาญของเรา
การเตรียมการ 1: เครื่องมือประกอบพีซี
ก่อนที่จะเริ่มประกอบคอมพิวเตอร์ คุณจะต้องรวบรวมเครื่องมือต่าง ๆ ให้ครบก่อน การเตรียมวัสดุและพื้นที่ทำงานของคุณล่วงหน้าจะช่วยให้มั่นใจได้ว่ากระบวนการประกอบจะเป็นไปอย่างราบรื่น
- พื้นที่ทำงาน คุณจะต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น โต๊ะ ในการทำงาน ตรวจสอบว่าคุณยืนบนพื้นผิวที่ไม่ใช่พรม เพื่อป้องกันการถ่ายเทประจุไฟฟ้าโดยไม่ได้ตั้งใจ (ซึ่งอาจทำให้ส่วนประกอบที่บอบบางเสียหายได้)
- ไขควง คุณจะต้องใช้ไขควง Phillips #2 สำหรับทุกอย่าง หากคุณติดตั้งอุปกรณ์ M.2 คุณจะต้องใช้ไขควง Phillips #0
เคล็ดลับ: ไขควงแม่เหล็กช่วยป้องกันไม่ให้สกรูหล่นลงไปในเคส และไม่ทำให้ชิ้นส่วนเสียหาย - แฟลชไดร์ฟ USB คุณต้องใช้แฟลชไดร์ฟที่มีขนาดอย่างน้อย 8GB เพื่อจัดเก็บโปรแกรมติดตั้งสำหรับระบบปฏิบัติการที่คุณจะใช้
การเตรียมการ 2: เคสพีซีสำหรับเล่นเกม
ก่อนที่คุณจะเริ่มเลือกชิ้นส่วน คุณควรจะมีเคสหรือคิดขนาดเคสไว้ก่อนแล้ว
สิ่งหลักที่ควรพิจารณาเมื่อเลือกเคสคือที่ที่คุณจะวางคอมพิวเตอร์
ตำแหน่งจัดวางพีซีของคุณจะเป็นตัวกำหนดว่าเคสควรมีขนาดใหญ่เท่าใด และยังช่วยในการพิจารณาว่าคุณสมบัติต่าง ๆ ของเคสระดับพรีเมียมนั้นคุ้มค่าแก่การทุ่มทุนซื้อหรือไม่ เช่น คุณอาจไม่ต้องการแผงกระจกนิรภัย หากเก็บคอมพิวเตอร์ไว้ใต้โต๊ะของคุณ
โดยปกติแล้ว เคสจะมีอยู่สามขนาดคือ Full-Tower, Mid-Tower และ Mini-Tower หมวดหมู่เหล่านี้เป็นหมวดหมู่ที่ใช้กันทั่วไป (ขนาดของเคสไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มผู้ผลิต) แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของแผงวงจรหลัก
การเตรียมการ 3: ชิ้นส่วนพีซีสำหรับเล่นเกม
ตอนนี้ถึงเวลาเริ่มประกอบส่วนประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ขั้นตอนนี้สามารถเป็นการลงมือทำเองหรือไม่ลงมือทำเองได้ตามที่คุณต้องการ โดยคุณสามารถศึกษาส่วนประกอบแต่ละตัวอย่างละเอียดด้วยตัวคุณเองเครื่องแบบปรับแต่งเองตั้งแต่ต้น หรือคุณสามารถค้นหาเครื่องประกอบแล้วทางออนไลน์ และสร้างและปรับเครื่องนั้นให้เหมาะสมกับงบและความต้องการของคุณ โดยสิ่งที่คุณจำเป็นต้องคำนึงถึงขณะที่เริ่มลงมือจะมีดังนี้
- งบประมาณ เราขอแนะนำให้คำนวณงบประมาณให้เรียบร้อยก่อนที่คุณจะเริ่มเลือกส่วนประกอบ คุณสามารถอัปเกรดส่วนประกอบแต่ละชิ้นได้ในภายหลัง
- ความเข้ากันได้ สร้างรายการประกอบก่อนตัดสินใจซื้อ ส่วนประกอบทั้งหมดต้องเข้ากันได้กับส่วนประกอบอื่น ๆ ทั้งหมด
- ข้อกำหนดของระบบ หากคุณกำลังประกอบพีซีเครื่องนี้เพราะคุณต้องการเล่นเกมบางเกม โปรดเข้าไปดูข้อกำหนดของระบบที่แนะนำของเกมดังกล่าว แล้วจึงวางแผนตามนั้น
นอกจากเคสแล้ว ส่วนประกอบที่คุณต้องมีสำหรับการประกอบพีซีสำหรับเล่นเกมมีดังนี้:
- หน่วยประมวลผลกลาง (CPU)
- หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU)
- แผงวงจรหลัก
- หน่วยความจำ (RAM)
- อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล
- พาวเวอร์ซัพพลาย (PSU)
- การระบายความร้อนระบบ
- อุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับการเล่นเกม
- ระบบปฏิบัติการ (OS)
มาดูกันว่าส่วนประกอบแต่ละตัวทำอะไรบ้าง ทำไมถึงมีความจำเป็น และสิ่งที่คุณต้องมองหาเมื่อเลือกซื้อส่วนประกอบ
หน่วยประมวลผลกลาง (CPU)
CPU คือสมองของพีซีของคุณ ซึ่งทำหน้าที่ดำเนินการคำสั่งที่จำเป็นสำหรับโปรแกรมที่จะรัน โดยสั่งงานไปยังส่วนประกอบอื่นๆ ทั้งหมด ชิ้นส่วนนี้จะส่งผลต่อประสบการณ์ของคุณในทุกแง่มุม อาทิ การเล่นเกม การสตรีม การสร้างคอนเทนต์ และมัลติทาสกิ้ง การเลือก CPU ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพีซีสำหรับเล่นเกม
ในขณะที่เลือก CPU สำหรับเล่นเกม ให้มองหาโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ Ultra หรือ Intel(R) Core(TM) ที่มีความถี่เทอร์โบสูงสุดในระดับสูงและมีจำนวนคอร์และเธรดสูง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความเร็วสัญญาณนาฬิกาสูงสุดที่เครื่องจะทำได้โดยใช้เทคโนโลยี Intel Turbo Boost เมตริกทั้งสองนี้มีผลต่อประสิทธิภาพอย่างมาก
- CPU ที่มีความถี่เทอร์โบสูงสุดในระดับสูงจะมีประสิทธิภาพแบบเธรดเดียวที่ยอดเยี่ยม ซึ่งจะช่วยเพิ่ม FPS ของคุณในเกมที่ต้องใช้การประมวลผลสูง
- ในขณะเดียวกัน คอร์และเธรดที่มากขึ้นจะช่วยให้คุณทำสิ่งต่างๆ พร้อมกันได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยให้ระบบของคุณทำงานราบรื่นและตอบสนองได้ดีขณะที่สลับใช้งานหลายแอป (เช่น เกมของคุณ Discord และซอฟต์แวร์สตูดิโอการสตรีม) นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณเล่นเกมที่ได้รับการปรับเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการเรนเดอร์หลายเธรดได้อย่างราบรื่น เช่น Valorant1 และ Fortniteรวมถึงเกมที่มีเรขาคณิตจำนวนมากอย่างMinecraft
หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU)
การ์ดกราฟิกแบบแยก เช่น Intel® Arc™ B-ซีรีส์ GPU เป็นส่วนประกอบขนาดใหญ่ที่ทรงพลังที่เสียบเข้าไปในช่อง PCIe x16 บนแผงวงจรหลัก PC ของคุณ GPU ที่ใช้ร่วมกับ CPU จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ FPS ในเกมของคุณ และเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นยิ่งสำหรับทุกคนที่ต้องการเล่นเกมที่ใช้กราฟิกอย่างหนักหน่วงและใช้การประมวลผลสูง
Intel® Arc™ B-ซีรีส์ GPU ยังรองรับเทคนิคการเรนเดอร์ขั้นสูง เช่น Ray Tracing และการอัปสเกล Intel® XeSS ซึ่งอัปเสกลความละเอียด 1080p เป็น 4K เพื่อให้ภาพที่มีความคมชัดสูงพร้อมประสิทธิภาพที่ราบรื่น
เมื่อต้องการเปรียบเทียบ GPU สำหรับอุปกรณ์ของคุณ ลองค้นหาคะแนนการวัดประสิทธิภาพออนไลนน์ของเกมที่กำลังจะเปิดตัวที่คุณอยากเล่น แล้วเริ่มต้นจากจุดนั้น
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกราฟิก Intel® Arc™ B-ซีรีส์
แผงวงจรหลัก
แผงวงจรหลักคือแผงวงจรหลักที่เชื่อมต่อกับทุกอย่าง CPU จะอยู่บนแผงวงจรหลัก ขณะที่ส่วนประกอบอื่น ๆ ทั้งหมด เช่น การ์ดกราฟิก ฮาร์ดไดรฟ์ หน่วยความจำ ออปติคอลไดรฟ์ และการ์ดไร้สาย จะเชื่อมต่อเข้ากับแผงวงจรหลัก
วิธีหนึ่งที่ช่วยจำกัดตัวเลือกแผงวงจรหลักของคุณคือการเลือกซื้อตามขนาด ฟอร์มแฟคเตอร์ที่ใช้กันทั่วไป คือ Extended ATX, ATX, Micro-ATX และ Mini-ITX
- Extended ATX มีขนาดใหญ่ที่สุด (12 x 13 นิ้ว หรือ 12 x 10.1 นิ้ว) และมักจะมีช่องเสียบ RAM แปดช่อง (RAM สูงสุด 128GB)
- แผงวงจรหลัก ATX มีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย (12 x 9.6 นิ้ว) และโดยปกติจะมีช่องเสียบ RAM ถึงสี่ช่อง
- แผงวงจรหลัก MicroATX (9.6 x 9.6 นิ้ว) มีช่องเสียบ RAM สูงสุดสี่ช่องเช่นกัน
- แผงวงจรหลัก Mini-ITX เป็นฟอร์มแฟคเตอร์ที่เล็กที่สุดจากฟอร์มแฟคเตอร์ทั้งสี่ (6.7 x 6.7 นิ้ว) และมักมีช่องเสียบ RAM สองช่อง
เนื่องจากส่วนประกอบทั้งหมดจะถูกเสียบเข้ากับแผงวงจรหลัก ดังนั้นจึงต้องเลือกแผงวงจรหลักที่มีขนาดใหญ่พบจะติดตั้งฮาร์ดแวร์ในปัจจุบันและในอนาคตได้
ขนาดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ต้องคำนึงถึง แผงวงจรหลักของคุณต้องเข้ากันได้กับส่วนประกอบที่คุณจะเชื่อมต่อ ทั้งสำหรับส่วนประกอบในปัจจุบันของคุณ และกับฮาร์ดแวร์ใดๆ ที่คุณจะอัปเกรดในอนาคต (Intel® Desktop Compatibility Tool ช่วยคุณได้)
แผงวงจรหลักรุ่นใหม่ ๆ จะมีข้อได้เปรียบในการรองรับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและมาตรฐานล่าสุด เช่น เลือกชิปเซ็ต Intel® 800-ซีรีส์ ซึ่งรองรับส่วนประกอบรุ่นใหม่ที่ทรงพลัง อาทิ DDR5 RAM, กราฟิก PCIe 5.0 และ SSD รวมถึง Intel® Killer™ Wi-Fi 6E ในตัว
ขั้นตอนที่ 1: ติดตั้ง CPU
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: แผงวงจรหลัก, CPU
นำแผงวงจรหลักออกจากบรรจุภัณฑ์กันไฟฟ้าสถิตและวางแผงวงจรหลักบนพื้นผิวสำหรับทำงานของคุณ หาซ็อกเก็ต CPU ซึ่งจะถูกปิดไว้ด้วยฝาพลาสติก ตรงมุมของฝาพลาสติกหรือพบบ่อยบนตัวซ็อกเก็ต คุณจะเห็นลูกศรเล็กๆ อยู่ โปรดจำว่าลูกศรอยู่ตรงนี้
คุณจะเห็นคันโยกโลหะเล็กๆ ข้างซ็อกเก็ต CPU กดคันโยกลงและค่อยๆ ดึงไปด้านข้าง (ออกจากซ็อกเก็ต) เพื่อเปิดถาดซ็อกเก็ต
เปิดกล่อง CPU และนำออกจากบรรจุภัณฑ์ ใช้ความระมัดระวังขณะหยิบ CPU เนื่องจาก CPU และซ็อกเก็ต CPU มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดความเสียหายทางกายภาพ ถือ CPU โดยจับตรงขอบและไม่แตะขาใต้ชิป เนื่องจากนิ้วมือของคุณอาจทิ้งคราบฝุ่นหรือน้ำมัน และพยายามอย่าจับด้านบนของชิปเช่นกัน
คุณจะเห็นลูกศรตรงมุมหนึ่งของ CPU จัดให้ลูกศรหันขึ้นเหมือนกับลูกศรบนซ็อกเก็ต และค่อย ๆ วาง CPU ลงบนซ็อกเก็ต
เมื่อใส่ CPU เข้าที่อย่างนุ่มนวลแล้ว คุณสามารถกดคันโยกยึดลงและดันกลับให้เข้าที่ การกดคันโยกลงอาจต้องใช้แรงเล็กน้อย แต่การใส่ CPU ให้เข้าที่นั้นไม่ต้อง!
ขั้นตอนที่ 2: (ไม่บังคับ) ติดตั้ง M.2 SSD
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: แผงวงจรหลัก, M.2 SSD, ไขควง Phillips #0, คู่มือผู้ใช้ของแผงวงจรหลัก
หากคุณต้องการติดตั้ง M.2 SSD ตอนนี้เป็นช่วงที่ดีในการติดตั้ง ก่อนอื่นให้หาช่อง M.2 บนแผงวงจรหลักของคุณ ซึ่งเป็นช่องเล็กๆ ในแนวนอนที่มีสกรูขนาดเล็กมากตามแนวขวาง หากคุณหาไม่เจอ หากคุณเจอช่อง M.2 หลายช่อง หรือหากคุณวางแผนที่จะติดตั้ง M.2 SSD มากกว่าหนึ่งตัว ให้ดูคู่มือผู้ใช้ที่มาพร้อมกับแผงวงจรหลักของคุณ
ขันสกรูขนาดเล็กมากออกด้วยไขควง Phillips #0 อย่าทำหายล่ะ
ค่อยๆ เลื่อน M.2 SSD เข้าไปในช่อง เมื่อเข้าที่ดีแล้ว M.2 SSD จะอยู่เหนือแผงวงจรหลักในมุมประมาณ 35 องศา ดัน SSD ลงและขันสกรูขนาดเล็กมากกลับเข้าไปเพื่อยึดให้เข้าที่
ขั้นตอนที่ 3: ติดตั้งระบบระบายความร้อน CPU
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: แผงวงจรหลักที่ติดตั้ง CPU แล้ว, พัดลมระบายความร้อน CPU, ซิลิโคน, คู่มือของพัดลมระบายความร้อน CPU
พัดลมระบายความร้อน CPU มีอยู่หลายประเภท สำหรับคำแนะนำการติดตั้งที่แม่นยำ เราแนะนำให้คุณดูคู่มือที่มาพร้อมกับพัดลมระบายความร้อน CPU ของคุณ
พัดลมระบายความร้อนบางตัวต้องใช้ขายึด แผงวงจรหลักอาจมีขายึดติดตั้งไว้ก่อนแล้ว คุณอาจต้องถอดขายึดนี้ออกถ้าพัดลมระบายความร้อนไม่ต้องใช้ขายึด หรือเปลี่ยนขายึดนี้ถ้าพัดลมระบายความร้อนใช้ขายึดที่ไม่เหมือนกัน ให้ทำส่วนนี้ก่อนที่จำใส่แผงวงจรหลักเข้าไปในเคส
พัดลมระบายความร้อนบางตัวมีซิลิโคนติดมากับวัสดุนำความร้อน (ซึ่งอยู่บน CPU) และบางตัวก็ไม่มี หากพัดลมระบายความร้อนของคุณไม่มีซิลิโคนติดมาให้ คุณจะต้องทาซิลิโคนเองก่อนที่จะใส่พัดลมระบายความร้อน ในการทาซิลิโคน ให้บีบเป็นเม็ดเล็กๆ (ไม่ใหญ่กว่าเม็ดข้าว) ลงบนตรงกลางของ CPU จากนั้นวางพัดลมระบายความร้อนบน CPU โดยแรงกดจะกระจายซิลิโคนออกอย่างพอเหมาะ
ขั้นตอนที่ 4: ติดตั้งหน่วยความจำ (RAM)
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: แผงวงจรหลัก, RAM, คู่มือผู้ใช้ของแผงวงจรหลัก
ดูว่าแผงวงจรหลักของคุณมีช่องเสียบ RAM กี่ช่อง (ส่วนใหญ่มีสองหรือสี่ช่อง) หากคุณจะใส่ RAM ทุกช่อง เพียงแค่เสียบ RAM ให้เข้าที่เท่านั้น หากคุณใส่ RAM ไม่ครบทุกช่อง โปรดดูคู่มือผู้ใช้เพื่อหารูปแบบการใส่ที่ถูกต้องและเสียบ RAM ไปที่ช่องตามนั้น
ขั้นตอนที่ 5: (ตัวเลือก) เปิดเครื่องทดสอบ
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: แผงวงจรหลักที่ติดตั้ง CPU และพัดลมระบายความร้อน CPU แล้ว, RAM, GPU, PSU, ไขควง, คู่มือผู้ใช้ของแผงวงจรหลัก, จอภาพพีซี (เสียบกับ GPU)
เมื่อคุณติดตั้ง CPU และพัดลมระบายความร้อน CPU แล้ว คุณอาจต้องการทำการทดสอบด่วนกับส่วนประกอบต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าใช้งานได้ทุกส่วน การทดสอบนี้ทำ (และแก้ไขปัญหา) ได้ยาก เมื่อติดตั้งทุกอย่างลงในตัวเคสแล้ว ในการทำการทดสอบนี้ ให้ติดตั้ง GPU และเชื่อมต่อทุกสิ่งเข้ากับพาวเวอร์ซัพพลาย (หากคุณไม่ทราบวิธีติดตั้ง GPU โปรดดูที่ส่วนด้านล่าง) ตรวจสอบว่าเชื่อมต่อพาวเวอร์ซัพพลายกับแผงวงจรหลัก (ทั้ง CPU 8 ขา และ 24 ขา) และ GPU แล้ว จากนั้นให้เสียบไฟและเปิดเครื่อง
แผงวงจรหลักระดับไฮเอนด์บางตัวมีปุ่มเปิด/ปิด แต่ส่วนใหญ่จะไม่มี หากคุณไม่เห็นปุ่มเปิด/ปิด ให้มองหาขาสวิตช์เปิด/ปิด ซึ่งเป็นขาคู่ขนาดเล็กที่ยื่นออกมาจากปุ่มสีเล็ก ๆ ขาสวิตช์เปิด/ปิดอาจมีคำอธิบายติดอยู่ (เช่น "PWR_ON") ในการเปิดแผงวงจรหลัก ให้ใช้ไขควงแตะที่ขาสวิตช์เปิด/ปิดทั้งสองขา
ตอนนี้คุณควรทราบแล้วว่าส่วนประกอบใดเสียหรือทำงานผิดปกติ หากไฟของแผงวงจรหลักกะพริบหรือส่งเสียงบี๊บ แสดงว่าจะต้องมีสาเหตุบางอย่างเกิดขึ้น แผงวงจรหลักบางตัวมีจอแสดงผลรหัส POST (ตัวเลขสองหลัก) เพื่อช่วยระบุว่าปัญหาคืออะไร ในการดูว่าแผงวงจรหลักพยายามบอกอะไร ให้ดูคู่มือผู้ใช้ของคุณ หากแผงวงจรหลักของคุณไม่มีจอแสดงผลรหัสข้อผิดพลาด ให้เชื่อมต่อจอภาพกับ GPU และดูว่าระบบผ่านกระบวนการ POST (การทดสอบตัวเอง เมื่อเปิดเครื่อง) หรือเริ่มต้นและแสดงโลโก้ของแผงวงจรหลักหรือไม่
เมื่อคุณทดสอบเสร็จ ให้ปิดพาวเวอร์ซัพพลาย และรอให้ LED ใดๆ บนแผงวงจรหลักดับลงเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในระบบ จากนั้น ถอด GPU ออกและถอดสายไฟทุกเส้นออกก่อนที่จะดำเนินขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ 6: ติดตั้งพาวเวอร์ซัพพลาย
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: PSU, เคส, สาย PSU, ไขควง Phillips #2
แกะ PSU ออกจากกล่อง (หรือถอดออกจากส่วนประกอบต่าง ๆ หากคุณเลือกทำการทดสอบ) และจัดสายไว้ข้างๆ (หากเป็นยูนิตเต็ม หรือแบบถอดสายได้บางสาย)
สำรวจดูเคสและดูว่าควรวาง PSU ไว้ที่ไหน (อาจวางไว้ด้านล่างใกล้กับด้านหลัง) และหันไปทิศทางใด หากเป็นไปได้ คุณควรจัดทิศทาง PSU ให้พัดลมหันหน้าหาด้านนอกเคส (ทางช่องระบายอากาศ) หากเคสของคุณมีช่องระบายอากาศอยู่ที่ด้านล่าง คุณสามารถติดตั้ง PSU กลับหัวได้ ตราบเท่าที่ช่องระบายอากาศด้านล่างมีการไหลเวียนของอากาศที่เหมาะสมเมื่อประกอบพีซีเสร็จสิ้น
หากเคสของคุณไม่มีช่องระบายอากาศ ติดตั้ง PSU ให้พัดลมหันหน้าขึ้น (เข้าหาเคส) และตรวจสอบดูว่าพื้นที่ว่างเพียงพอ
ติด PSU เข้ากับเคสโดยใช้สกรูสี่ตัวที่มาพร้อมกับ PSU
หากคุณใช้พาวเวอร์ซัพพลายแบบถอดสายไม่ได้หรือแบบถอดสายได้บางสาย ตอนนี้ถึงเวลาที่จะเสียบสายเข้ากับส่วนประกอบต่างๆ ในเคสที่จำเป็นแล้ว (ใช้คุณสมบัติการจัดการสายหากเคสของคุณมีคุณสมบัตินี้)
ขั้นตอนที่ 7: ติดตั้งแผงวงจรหลัก
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: เคส, แผงวงจรหลัก, แผ่นป้องกัน I/O (หากไม่ได้ติดอยู่กับแผงวงจรหลัก), ไขควง Phillips #2, สกรู, คู่มือผู้ใช้ของแผงวงจรหลัก
หากแผงวงจรหลักของคุณมีแผ่นป้องกัน I/O ที่ยังไม่ติดตั้ง ซึ่งเป็นแผ่นโลหะสี่เหลี่ยมที่มีช่องสำหรับพอร์ตของแผงวงจรหลัก คุณควรติดแผ่นนั้นที่ด้านหลังเคสให้เข้าที่ก่อน (ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหันทิศทางถูกต้อง) แผ่นป้องกัน I/O มักจะมีขอบที่แหลมคม คุณจึงควรระวังนิ้ว
เมื่อแผ่นป้องกัน I/O เข้าที่แล้ว คุณสามารถติดตั้งแผงวงจรหลักได้ ตรวจสอบซ้ำให้แน่ใจว่าร้อยสายไปยังส่วนที่ถูกต้องแล้ว จากนั้นจึงวางแผงวงจรหลัก (ให้ตรงกับแผ่นป้องกัน I/O ก่อน) ใช้ไขควง Phillips #2 ขันสกรูตัวกลางเป็นตัวแรก เพื่อยึดแผงวงจรหลักเข้าที่ ตรวจดูให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้ลากแผงวงจรหลักไปทั่วเสารองที่ติดอยู่กับตัวเคส
จำนวนสกรูที่คุณต้องใช้ติดตั้งแผงวงจรหลักจะแตกต่างกันไปตามแผงวงจรหลัก แต่โดยปกติแล้ว แผงวงจรหลัก ATX แบบขนาดเต็มจะใช้สกรู 9 ตัว ใส่สกรูในช่องสกรูที่มีอยู่ทั้งหมด
เชื่อมต่อพาวเวอร์ซัพพลายเข้ากับแผงวงจรหลัก มีการเชื่อมต่อหลักอยู่สองตัวคือ คอนเน็กเตอร์ CPU 8 ขาทางด้านบนของบอร์ดและคอนเน็กเตอร์ 24 ขาจากด้านข้าง
ขั้นตอนที่ 8: ติดตั้ง GPU
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: แผงวงจรหลัก, GPU, ไขควง Phillips #2, สกรู, คู่มือผู้ใช้ของแผงวงจรหลัก
ค้นหาช่อง PCIe x16 บนแผงวงจรหลักของคุณ ซึ่งจะเป็นช่อง PCIe ที่ยาวที่สุดและอาจมีสีที่แตกต่างจากช่องอื่น ๆ หากแผงวงจรหลักของคุณมีช่อง PCIe x16 มากกว่าหนึ่งช่อง ให้ดูคู่มือว่าควรใส่ที่ช่องใด หากใช้ช่องใดก็ได้ ให้พิจารณาใช้ช่องตามการจัดวางส่วนประกอบ เพราะคุณคงต้องการให้มีพื้นที่ว่างสำหรับ GPU บ้าง
คุณอาจต้องถอดแผ่นปิด I/O (แถบโลหะเล็กๆ ที่ปิดแผงหลังของเคส) เพื่อให้เหมาะสมกับ I/O ของ GPU (HDMI, DisplayPort, DVI, ฯลฯ) และทำให้เข้าถึงได้จากภายนอกตัวเคส ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเคสของคุณ
นำ GPU ออกจากบรรจุภัณฑ์ป้องกันไฟฟ้าสถิตและค่อย ๆ จัดวางทั้งขายึดด้านหลังและตัวช่องให้พอดีกัน จากนั้นจึงค่อยๆ ดันเข้าไปในช่อง PCIe x16 (คุณอาจได้ยินเสียงคลิก) แถบ PCIe บนแผงวงจรหลักอาจขยับสู่ตำแหน่งล็อคหากคุณต้องเสียบ GPU ใหม่
เมื่อ GPU เข้าที่พอดีแล้ว ให้ยึดกับด้านหลังเคสด้วยสกรูหนึ่งหรือสองตัว หากต้องต่อไฟเพิ่มให้กับ GPU ให้เสียบกับพาวเวอร์ซัพพลาย
ขั้นตอนที่ 9: ติดตั้งอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: SSD, HDD, ไขควง Phillips #2, สกรู, คู่มือผู้ใช้ของเคส/ตัวเคส
ก่อนอื่น ให้ตรวจสอบเคสของคุณ ทุกเคสจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในส่วนของแท่นวางไดรฟ์
คุณน่าจะหาแท่นวางไดรฟ์ขนาดต่างๆ ที่ซ้อนกันในเคสของคุณได้ แท่นวางไดรฟ์เหล่านี้อาจมีสวิตช์พลาสติกเล็กๆ ในกรณีที่เป็นแท่นวางไดรฟ์แบบไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรืออาจดูเหมือนขายึดโลหะ
โดยทั่วไปแล้ว อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมีสองขนาดคือ 2.5 นิ้ว (HDD และ SSD) และ 3.5 นิ้ว (HDD) แท่นวางไดรฟ์ 3.5 นิ้วส่วนใหญ่สามารถใส่ไดรฟ์ 2.5 นิ้วได้ แต่ใส่ไดรฟ์ 3.5 นิ้วกับแท่นวางไดรฟ์ 2.5 นิ้วไม่ได้ (แท่นวางไดรฟ์ 3.5 นิ้วบางตัวมีถาดที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับไดรฟ์ 2.5 นิ้ว แต่ก็ยังคงใส่ไดรฟ์ 2.5 นิ้วได้) และคุณอาจเห็นแท่นวางไดรฟ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าในเคส แท่นวางเหล่านี้ไว้ใช้สำหรับไดรฟ์ขนาดใหญ่ เช่น ออปติคอลไดรฟ์และมักจะอยู่ใกล้กับด้านบนสุดของด้านหน้าเคส
หากคุณมีแท่นวางแบบไม่ต้องใช้เครื่องมือ แท่นวางแต่ละแท่นจะมีคันโยกหรือสวิตช์พลาสติกของตัวเอง เปิดหรือปลดล็อคคันโยกหรือสวิตช์และคุณจะสามารถดึงถาดออกมาได้ วางไดรฟ์ลงในถาด ถาด 3.5 นิ้วบางตัวได้รับการออกแบบมาให้รองรับถาด 2.5 นิ้ว หากรองรับ คุณจะต้องขันสกรูไดรฟ์ 2.5 นิ้วเข้ากับถาด 3.5 นิ้ว เพื่อให้ตัวไดรฟ์ไม่ขยับ
เลื่อนถาดกลับเข้าไปในแท่นวาง ควรคลิกเข้าที่
หากคุณไม่มีช่องใส่แบบไม่ต้องใช้เครื่องมือ คุณจะเห็นขายึดโลหะ (จะมีขนาดใหญ่และรูปร่างเหมือนแผ่นเหล็ก) ที่มีแผ่นหรือรูในตัว การใส่ไดรฟ์เข้าไปใน "แท่นวาง” เหล่านี้นั้น คุณเพียงแค่เลื่อนไดรฟ์เข้าไประหว่างขายึดโลหะและด้านข้างของเคส และขันสกรูให้เข้าที่ ใช้จำนวนสกรูตามที่คู่มือของตัวเคสแนะนำ แต่ถ้าคุณมีสกรูไม่พอ ไดรฟ์ส่วนใหญ่จะใช้สกรูแค่สองตัวได้
เมื่อติดตั้งไดรฟ์ทั้งหมดเข้าที่แล้ว ให้เชื่อมต่อไดรฟ์เหล่านั้นกับแผงวงจรหลัก (โดยใช้สาย SATA ซึ่งควรมาพร้อมกับไดรฟ์หรือแผงวงจรหลักของคุณ) และเชื่อมต่อกับพาวเวอร์ซัพพลาย
ขั้นตอนที่ 10: ติดตั้งระบบปฏิบัติการ
ชิ้นส่วน/เครื่องมือ: พีซี, จอภาพ, เมาส์, คีย์บอร์ด, ระบบปฏิบัติการที่บันทึกไว้ในแฟลชไดรฟ์ USB
หากคุณยังไม่ได้เตรียมระบบปฏิบัติการ (OS) ของคุณไว้ในแฟลชไดรฟ์ USB ให้ทำทันที (ดูรายละเอียดได้จากส่วนด้านบนเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการด้านล่าง "การเตรียมการ 3: เลือกส่วนประกอบของคุณ")
เสียบแฟลชไดรฟ์ USB ที่มีข้อมูลระบบปฏิบัติการของคุณ รวมถึงจอภาพ เมาส์ และคีย์บอร์ด แล้วเปิดพีซีของคุณ
หน้าจอแรกที่คุณเห็นจะบอกให้คุณกดปุ่มเพื่อเข้าสู่การตั้งค่าระบบหรือ BIOS กดปุ่มเพื่อเข้าสู่ BIOS (หากหน้าจอปิดเร็วเกินกว่าที่คุณจะมองเห็นปุ่มทัน โปรดดูคู่มือผู้ใช้ของแผงวงจรหลัก)
ก่อนอื่นคุณจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าส่วนประกอบทุกตัวได้รับการติดตั้งและเป็นที่รับรู้ของระบบแล้ว หาหน้าใน BIOS ที่แสดงข้อมูลระบบของพีซี (แผงวงจรหลักต่างๆ มีการตั้งค่า BIOS ที่แตกต่างกันไป แต่คุณควรสามารถหาหน้าจอที่ให้ข้อมูลนี้ได้) และตรวจสอบว่าระบบรับรู้ส่วนประกอบทุกตัวที่คุณติดตั้งจนถึงตอนนี้
จากนั้นเปิดดู BIOS ไปเรื่อย ๆ จนเจอหน้า Boot (อาจเรียกว่า "Boot Order" หรือ "Boot Priority") เปลี่ยนลำดับการบูทเพื่อให้แฟลชไดรฟ์ USB ของคุณเป็นลำดับแรก และไดรฟ์ที่คุณต้องการติดตั้งระบบปฏิบัติการ (หากคุณใช้ SSD เป็นไดรฟ์บูท คุณควรติดตั้ง OS ที่นี่) เป็นลำดับที่สอง
รีสตาร์ทคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ของคุณจะบูทจาก USB และตัวติดตั้ง OS จะแสดงขึ้น ทำตามคำแนะนำเพื่อทำการติดตั้งให้เสร็จสิ้น
ยังไม่จบเพียงแค่นี้
หากคุณทำตามคู่มือของเราทั้งหมดแล้ว ขอแสดงความยินดีด้วย คุณประกอบคอมพิวเตอร์เสร็จสิ้นแล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนี่เป็นครั้งแรกของคุณ)! แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเสร็จสิ้นเพียงแค่นี้
หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการประกอบพีซีสำหรับเล่นเกมของคุณเองคือการประกอบไม่เคยสิ้นสุดอย่างแท้จริง คุณสามารถปรับแต่งอุปกรณ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคุณ แล้วอัปเดตอุปกรณ์ด้วยฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ๆ เมื่อข้อกำหนดของระบบของเกมต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปตามเวลา พีซีที่คุณเพิ่งประกอบไปนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของประสบการณ์เล่นเกมทั้งหมดในอนาคต และการปรับแต่งส่วนประกอบต่างๆ ของคุณคือความสนุกอย่างแท้จริง
ตอนนี้คุณรู้วิธีการประกอบพีซีสำหรับเล่นเกมแล้ว คุณสามารถมุ่งความสนใจไปที่วิธีการดึงประสิทธิภาพสูงสุดจากพีซีที่คุณประกอบเอง หลังจากที่ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมทำดังนี้
- สำรวจทุกความเป็นไปได้ที่ระบบใหม่ของคุณมีให้
- อัปเดต GPU ของคุณด้วยไดรเวอร์ล่าสุด
- รองรับความเร็วหน่วยความจำที่เร็วขึ้น หากคุณติดตั้ง RAM ความเร็วสูง
- โอเวอร์คล็อก CPU ของคุณ หากคุณติดตั้ง Intel® Core™ CPU K-ซีรีส์ แบบปลดล็อค
- เพิ่มประสิทธิภาพการตั้งค่าระบบของคุณเพื่อรับประสิทธิภาพการเล่นเกมสูงสุด