การแก้ไขปัญหา - ทำไมคอมพิวเตอร์ถึงเปิดไม่ติด

จุดเด่น:

  • การวิเคราะห์

  • ตรวจสอบสายเคเบิล

  • ตรวจสอบเมนบอร์ด

  • เคส

  • ทดสอบฮาร์ดแวร์

author-image

โดย

เมื่อพีซีของคุณเปิดไม่ติด อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้ได้ว่าต้องเริ่มแก้ไขที่ใด พีซีสมัยใหม่เป็นเครื่องจักที่ซับซ้อน ดังนั้นการพิจารณาต้นตอของปัญหาในทันทีอาจเป็นเรื่องยาก

เนื่องจากความหลากหลายของฮาร์ดแวร์ที่มีให้เลือก การวิเคราะห์ปัญหาที่เป็นไปได้ทุกอย่างจึงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงจะพูดถึงขั้นตอนที่คุณจะใช้เพื่อระบุและแก้ไขปัญหาได้ ไม่ว่าคุณจะประกอบพีซีที่ไม่เคยเปิดติดเลย หรือพยายามแก้ไขปัญหาใหม่สำหรับเครื่องที่เคยทำงานได้โดยไม่มีปัญหา โซลูชันการวิเคราะห์เหล่านี้ก็ใช้ประโยชน์ได้กับทั้งสองกรณี

การวิเคราะห์

“พีซีเปิดไม่ติด” อาจมีความหมายสองสามอย่าง เพื่อความเข้าใจ เราจะสมมุติว่าระบบของคุณไม่ตอบสนองเลยเมื่อกดปุ่มเปิด/ปิดบนเคสของคุณ หรือเครื่องติดเป็นเวลาไม่กี่วินาทีหรือมากกว่านั้นจากนั้นก็ดับอีกครั้ง

หากคุณเปิดเครื่องพีซีได้แต่หน้าจอไม่แสดงผลข้อมูลเลย หรือหากคุณติดอยู่ที่หน้าจอการตั้งค่า BIOS และเข้าถึงระบบปฏิบัติการไม่ได้ คุณสามารถดูคู่มือการแก้ไขปัญหานี้ได้ใน “เหตุใดฉันจึงบูท Windows ไม่ได้”

เราจะพูดถึงฮาร์ดแวร์พีซีที่หลากหลายอย่างละเอียดในกระบวนการวิเคราะห์นี้ หากมีคำถาม ขอให้คุณใช้ คู่มือประกอบพีซีนี้ เป็นเครื่องมืออ้างอิงเกี่ยวกับวิธีการประกอบฮาร์ดแวร์พีซีเข้าด้วยกัน หรือคำถามเกี่ยวกับองค์ประกอบเฉพาะต่างๆ

นอกจากนี้ เราขอแนะนำให้อ่านล่วงหน้าเพื่อหาสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับคุณที่สุด ซึ่งจะบอกให้คุณทราบเกี่ยวกับสิ่งที่อาจพบก่อนคุณจะเริ่มกระบวนการวิเคราะห์ แต่คุณอาจไม่พบปัญหาที่ใกล้เคียงกับคุณ ดังนั้นคุณสามารถเริ่มด้วยขั้นตอนที่เหมาะสมที่สุดได้

ขั้นตอนที่ 1: ตรวจสอบสายเคเบิล

หากระบบของคุณได้รับพลังงาน ซึ่งดูได้จากการที่ LED บนองค์ประกอบภายในของพีซีติดสว่าง คุณอาจต้องการข้ามไปยังขั้นตอนที่ 3

หากไม่ ให้เริ่มจากสายเคเบิลที่ลากออกมาจากผนัง

  • ตรวจสอบว่าปลั๊กไฟสามารถทำงานได้โดยการเสียบปลั๊กอุปกรณ์ (เช่น โคมไฟ) ที่ทำให้คุณทราบว่าทำงานได้ แล้วดูว่าใช้งานได้จริงๆ หรือไม่
  • ตรวจสอบว่าได้เสียบปลั๊กตัวกันไฟกระชากหรือรางปลั๊กไฟเข้ากับเต้ารับอย่างถูกต้อง และเปิดสวิตช์แล้ว เสียบปลั๊กอุปกรณ์อื่นๆ เข้ากับรางปลั๊กไฟแล้วตรวจสอบว่าใช้งานได้หรือไม่
  • ตรวจสอบอีกครั้งว่าสวิตช์เปิด/ปิดพาวเวอร์ซัพพลายของพีซีเปิดอยู่
  • ยืนยันว่าเสียบสายไฟของพีซีเข้ากับพาวเวอร์ซัพพลายและปลั๊กไฟอย่างถูกต้องแล้ว เนื่องจากสายไฟอาจหลวมได้เมื่อเวลาผ่านไป

เมื่อคุณตรวจสอบการเชื่อมต่อจากพีซีไปสู่ผนังอีกครั้งแล้ว ให้ทดสอบสายไฟของพีซีที่เสียบเข้ากับ PSU (หรือสายเคเบิล C13)

  • มีจอภาพหลายรุ่นที่ใช้สายเคเบิลเหมือนกับ PSU ของเดสก์ท็อป หากคุณใช้งานจอภาพเหล่านั้น ให้เปลี่ยนสายเคเบิลของจอภาพเป็นสายเคเบิลพีซี แล้วดูว่าจอภาพเปิดติดหรือไม่ หากไม่ติด ให้ทดสอบพีซีด้วยสายเคเบิลที่ใช้กับจอภาพก่อนหน้านี้
  • หาสายเคเบิล C13 เส้นใหม่แทนหากไม่มีสำรอง จำไว้ว่าชุดพีซีบางรุ่นที่ใช้พลังงานมากเป็นพิเศษจะต้องใช้สายเคเบิลที่มีเกจสูงกว่า ดังนั้นอย่าลืมเปลี่ยนสายเคเบิลที่คุณใช้ให้มีเกจใกล้เคียงกัน

เมื่อตัดข้อสงสัยเกี่ยวสายไฟและปลั๊กไฟได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการเดินสายภายในเคส

ขั้นตอนที่ 2: การเดินสายภายใน

ขั้นตอนถัดไปคือเริ่มการตรวจสอบภายในชุดประกอบเพื่อดูว่าไม่มีสายเคเบิลหลวมหรือชำรุด หากคุณใช้ระบบที่ประกอบมาล่วงหน้า โปรดจำไว้ว่าการเปิดเคสพีซีอาจเป็นการละเมิดการรับประกัน และคุณควรติดต่อขอคำแนะนำจากผู้ผลิตระบบก่อนดำเนินการ

เริ่มโดยการถอดปลั๊กสายเคเบิลที่โยงจากพาวเวอร์ซัพพลายของพีซีไปยังปลั๊กไฟเป็นส่วนแรกก่อนจะดำเนินการอย่างอื่นภายในคอมพิวเตอร์ และอย่าลืมถอดสายอุปกรณ์ต่อพ่วงภายนอก เช่น คีย์บอร์ด เมาส์หรือฮาร์ดไดรฟ์ภายนอก และสายเคเบิลจอภาพที่เสียบอยู่กับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ USB หรือสายเคเบิลต่อพ่วงสำหรับการแสดงผลอาจทำให้เกิดปัญหาพลังงานในบางครั้ง และหากพีซีบูทได้ขณะไม่ได้เสียบสายเหล่านั้น ให้แยกเสียบทีละสายแล้วทดสอบจนพบอุปกรณ์ต่อพ่วงที่มีปัญหา แล้วลองบูทโดยไม่เสียบสายอุปกรณ์นั้น หรือทดสอบด้วยสายใหม่

หากไม่ได้ผล ให้ถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์จากผนัง แล้วเปิดเคสเพื่อดูองค์ประกอบภายใน กระบวนการนี้จะแตกต่างกันไปตามเคส ดังนั้นให้ทำตามเอกสารและคำแนะนำที่เกี่ยวข้องเพื่อเปิดดูภายในของพีซี

หลังจากเปิดเคสแล้ว ให้ตรวจสอบการเชื่อมต่อทั้งหมดจากพาวเวอร์ซัพพลายไปยังองค์ประกอบในพีซี ดูว่ามีเส้นใดหลวมและเสียบให้แน่น หากคุณมี PSU แบบถอดสาย (พาวเวอร์ซัพพลายที่คุณเลือกสายเคเบิลที่ต้องการใช้ได้) อย่าลืมตรวจสอบอีกครั้งว่าสายเคเบิลเสียบกับด้าน PSU อย่างถูกต้องหรือไม่ด้วย หลังจากตรวจสอบว่าไม่มีสายใดหลวม ให้ลองเปิดเครื่องพีซี

หากไม่ได้ผล ให้ถอดปลั๊กสายไฟทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับองค์ประกอบ โดยรวมไปถึง 24 พินและสายไฟ CPU ที่เชื่อมต่อกับเมนบอร์ด สายไฟเพิ่มเติมที่ให้พลังงานอุปกรณ์ PCIe เช่น GPU และ SATA รวมทั้งช่องเชื่อมต่อสายไฟ Molex ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วย

หากต้องการศึกษาเรื่องการเชื่อมต่อพาวเวอร์ซัพพลายให้ลึกขึ้น ให้ดูที่ ทุกสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับพาวเวอร์ซัพพลาย

เมื่อถอดปลั๊กทุกสิ่งจาก PSU แล้ว ให้วางเมนบอร์ดและเสียบสายเคเบิล CPU อีกครั้ง เสียบปลั๊กพีซี และดูว่าระบบเปิดติดหรือไม่ โดยดูได้จากการหมุนของพัดลม และไฟบนฮาร์ดแวร์

หากได้ผลก็เยี่ยมเลย จากนั้นคุณจะต้องปิดระบบและเริ่มเชื่อมต่อสายไฟเข้ากับฮาร์ดแวร์ใหม่อีกครั้ง จากนั้นทดสอบจนกว่าคุณจะพบฮาร์ดแวร์ที่ทำให้เกิดปัญหา หากคุณต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ใดที่ต้องเชื่อมต่อพาวเวอร์ซัพพลาย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเสียบสาย ให้ดูคำแนะนำในการประกอบพีซีนี้

ขณะสำรวจภายในเคส ให้มองหาสิ่งที่อาจทำให้เกิดไฟฟ้าช็อต ตัวอย่างที่พบบ่อยของปัญหานี้ก็คือเมนบอร์ดที่ยึดติดกับเคสโดยตรงโดยไม่ได้เว้นระยะห่างที่จำเป็น หรือช่องเชื่อมต่อ Molex* ที่มีพินสัมผัสกับแชสซี หากพีซีของคุณเป็นแบบที่ประกอบสำเร็จก็ไม่น่าพบปัญหานี้ แต่ความรอบคอบและตรวจสอบก็ช่วยได้

หากคุณลองทำทุกอย่างข้างต้นแล้ว แต่ยังไม่เห็นไฟ LED แสดงสถานะส่วนประกอบ คุณอาจกำลังเผชิญกับ PSU ที่ผิดปกติ

หากคุณมีพาวเวอร์ซัพพลายสำรองที่ทำงานได้ ให้เสียบสายเคเบิล CPU และสายเคเบิลเมนบอร์ด 24 พินจาก PSU ใหม่ เพื่อดูว่าจ่ายไฟให้กับเมนบอร์ดได้หรือไม่ หากได้ เป็นไปได้ว่าปัญหาอยู่ที่ PSU และคุณสามารถติดต่อผู้ผลิตเพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป

ขั้นตอนที่ 3: รหัส POST เมนบอร์ด และการทดสอบฮาร์ดแวร์

ระบบอาจได้รับพลังงาน — เนื่องจากไฟบนฮาร์ดแวร์ภายในแสดงให้เห็น — แต่ยังคงเปิดเครื่องไม่ได้ หากระบบของคุณยังไม่ตอบสนองเมื่อกดปุ่มเปิดเครื่องบนเคส หรือหากเปิดเครื่องได้ครู่เดียวก่อนจะดับไปอีกครั้ง ให้ทำตามขั้นตอนด้านล่าง

รหัส POST และ Beep

แม้การระบุต้นตอของสาเหตุที่พีซีบูทไม่สำเร็จจะทำได้ยาก แต่ก็มีการทดสอบในตัวที่สามารถช่วยได้ รหัส Power On Self Test (POST) และรหัส Beep คือสัญญาณภาพและเสียงที่ผู้ผลิตเมนบอร์ดใช้เพื่อแสดงผลการทดสอบฮาร์ดแวร์ภายใน สัญญาณเหล่านี้อาจมีประโยชน์มากในการพิจารณาปัญหาฮาร์ดแวร์ที่อาจทำให้เปิดเครื่องพีซีไม่ติด

รหัส POST มักจะประกอบด้วยตัวเลขสองตัวที่แสดงจุดที่ระบบพบปัญหาฮาร์ดแวร์ในกระบวนการบูท และมักจะสามารถช่วยระบุแหล่งต้นตอของปัญหาได้ เช่น หากรหัส POST ระบุข้อผิดพลาดที่การเริ่มต้นหน่วยความจำ คุณจะทราบได้ว่าต้องเริ่มการแก้ไขปัญหาที่ RAM เมนบอร์ดส่วนใหญ่มีการแสดงผลตัวเลขฐานสิบหกที่จะแสดงรหัส และบอกข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตำแหน่งที่ควรเริ่มกระบวนการวิเคราะห์ หากเมนบอร์ดของคุณไม่มีการแสดงผลในตัว คุณสามารถใช้การ์ดทดสอบ POST ที่ติดตั้งในช่อง PCIe และใช้เพื่อแสดงผลรหัสนั้นได้

รหัส Beep คือรหัส POST ที่อยู่ในรูปเสียง เมื่อเปิดเครื่องพีซี คุณอาจได้ยินเสียงบี๊ปเป็นชุด สัญญาณเสียงเหล่านี้มีหน้าที่ในการวิเคราะห์เหมือนกับรหัส POST — เช่น เสียงบี๊ปสามครั้งอาจหมายความว่าพบการ์ดวิดีโอ และคุณควรเริ่มด้วยการวางตำแหน่ง GPU ใหม่

แม้ว่าตัวบ่งชี้เหล่านี้อาจมีประโยชน์ แต่ผู้ผลิตเมนบอร์ดแต่ละรายก็ใช้ระบบรหัสที่แตกต่างกัน ตรวจสอบเอกสารประกอบของเมนบอร์ด หรือค้นหาออนไลน์เพื่อดูรหัสที่ผู้ผลิตเมนบอร์ดของคุณใช้ เพื่อดูว่าคุณจะสามารถระบุปัญหาที่กำลังพบได้หรือไม่

อัพเดท BIOS เมนบอร์ด

หากคุณไม่ได้รับรหัส POST และคุณได้ทำตามขั้นตอนด้านบนแล้ว การตรวจสอบ BIOS ของเมนบอร์ดว่าอัพเดทหรือยังก็อาจมีประโยชน์

คุณสามารถอัปเดต BIOS ของเมนบอร์ดให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดได้ แม้เมื่อพีซีไม่สามารถดำเนินการ POST ได้ กระบวนการนี้อาจแตกต่างกันไปตามผู้ผลิตเมนบอร์ด ดังนั้นให้ดูข้อมูลจากเอกสารประกอบเมนบอร์ด หรือตรวจสอบออนไลน์เพื่อดูว่าระบบของคุณมี BIOS เวอร์ชั่นล่าสุดหรือยัง

กรณีนี้อาจใช้ไม่ได้ หากคอมพิวเตอร์ของคุณทำงานได้ดีและหยุดไป หรือหากคุณใช้ระบบที่ประกอบไว้ล่วงหน้า แต่หากคุณกำลังประกอบพีซีและเปิดไม่ติด และโดยเฉพาะหากคุณใช้เมนบอร์ดรุ่นเก่า ให้ตรวจสอบอีกครั้งว่าคุณใช้ BIOS ล่าสุดอยู่หรือไม่

ขั้นตอนที่ 4: ปุ่มเปิดเครื่อง

หากพีซีของคุณเปิดไม่ติด แต่ไฟเมนบอร์ดติด ปัญหาอาจอยู่ที่ปุ่มเปิดเครื่องบนเคส หรือสายที่เชื่อมต่อปุ่มนั้นกับเมนบอร์ด

ตรวจสอบว่าเมนบอร์ดของคุณมีปุ่มเปิดเครื่องอยู่หรือไม่ บางรุ่นอาจไม่มี ดูคู่มือเมนบอร์ดของคุณหากไม่แน่ใจ หรือหาไม่พบ การใช้ปุ่มเปิดเครื่องนี้จะเปิดระบบเหมือนกับการกดปุ่มเปิดเครื่องที่เดินสายอย่างถูกต้อง หากได้ผล คุณจะทราบได้ว่าปัญหาอยู่ที่เคส

หากเมนบอร์ดของคุณไม่มีปุ่มเปิดเครื่องอยู่ คุณสามารถใช้ไขควงเพื่อเริ่มระบบได้

โดยใช้วิธีการดังนี้:

  • หาหัวสวิตช์เปิดเครื่องทั้งสองบนเมนบอร์ด หัวสวิตช์ขนาดเล็กเหล่านี้มักจะมีป้ายกำกับ เช่น PWR_SW โดยมีสัญลักษณ์ + และ - หากปุ่มเปิดเครื่องจากเคสเชื่อมต่อกับหัวสวิตช์เหล่านี้แล้ว คุณจะต้องถอดสายเคเบิลเหล่านั้นออก ดูคู่มือเมนบอร์ดหากคุณไม่พบหัวสวิตช์เปิดเครื่อง เนื่องจากบางครั้งการมองหาป้ายกำกับด้วยตาเปล่าก็ทำได้ยาก
  • ตรวจสอบว่าเชื่อมต่อสายเคเบิล 4/8 CPU และสายไฟเมนบอร์ด 24 พินแล้ว และสวิตช์ PSU เปิดอยู่และพร้อมจ่ายไฟ
  • ใช้ไขควงโลหะแตะที่พินหัวสวิตช์เปิดเครื่องทั้งคู่เบาๆ แล้วระบบจะเปิดเครื่องหากเชื่อมต่อทุกอย่างถูกต้อง กระบวนการนี้จะให้ผลเหมือนกับการกดปุ่มเปิดเครื่องบนเคสเมื่อเชื่อมต่ออย่างถูกต้อง หรือการใช้ปุ่มเปิดเครื่องในตัวเมนบอร์ด

หากระบบของคุณเปิดเครื่องเมื่อใช้ปุ่มเปิดเครื่องบนบอร์ด หรือเมื่อใช้ไขควงกระตุ้นหัวสวิตช์ ปัญหาอาจอยู่ที่เคสของคุณ หากเคสของคุณมีปุ่มรีเซ็ท คุณจะพบว่าปุ่มนั้นเชื่อมต่ออยู่กับหัวสวิตช์รีเซ็ทใกล้กับหัวสวิตช์ปุ่มเปิดเครื่อง ลองเปลี่ยนสายเคเบิลที่เชื่อมต่อกับหัวสวิตช์ปุ่มเปิดเครื่องจากปุ่มรีเซ็ท โดยทั้งคู่ทำงานเหมือนกัน และหากปัญหาอยู่ที่เคส การเดินสายปุ่มรีเซ็ทเข้ากับหัวสวิตช์เปิดเครื่องอาจทำให้เลี่ยงปัญหานี้ได้

แน่นอนว่าคุณจะต้องกดปุ่มรีเซ็ทแทนปุ่มเปิดเครื่องเพื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังเป็นทางแก้ปัญหาชั่วคราวที่มีประโยชน์ ติดต่อผู้ผลิตเคสเพื่อดูทางแก้ปัญหาระยะยาวเพิ่มเติม

ขั้นตอนที่ 5: ทดสอบองค์ประกอบ

หากคอมพิวเตอร์ของคุณยังเปิดไม่ติด อาจได้เวลาเริ่มทดสอบฮาร์ดแวร์ทีละชิ้นแล้ว ซึ่งจะแตกต่างจากการทดสอบสายไฟทั้งหมดที่ทำมาก่อนหน้านี้ กระบวนการนั้นทำให้เราแยกสายไฟที่ชำรุดออกจากพาวเวอร์ซัพพลายได้ ครั้งนี้เราจะตรวจสอบการเชื่อมต่อกับเมนบอร์ด และดูว่าฮาร์ดแวร์ทั้งหมดสื่อสารกับระบบที่เหลืออย่างถูกต้องหรือไม่

เริ่มจากการถอด GPU ออก ถอดอุปกรณ์เก็บข้อมูล ถอดปลั๊กทุกสิ่งจาก I/O และถอด RAM ออกจนเหลือเพียงหนึ่งแท่งในช่องแรกของเมนบอร์ด

คุณควรจะตรวจสอบว่า PSU จ่ายไฟให้เมนบอร์ดและ CPU อยู่ นอกเหนือจากนี้ให้ถอดฮาร์ดแวร์ที่ไม่สำคัญออกให้หมด

หากพีซีเปิดติดเมื่อมีอุปกรณ์เสริมน้อยชิ้นแบบนี้ ให้เพิ่มฮาร์ดแวร์หนึ่งชิ้น ทดสอบ แล้วปิดเครื่อง อย่าลืมสลับโมดูล RAM แต่ละแท่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งด้วย เนื่องจากแท่งที่คุณใช้อยู่อาจเป็นต้นตอของปัญหา

ทำกระบวนการนี้ต่อไปจนระบบบูทไม่สำเร็จ คุณจะทราบสาเหตุของปัญหาได้ หากคอมพิวเตอร์ยังคง POST ทุกสิ่งยกเว้นฮาร์ดแวร์ที่ชำรุด หมายความว่าคุณได้ยืนยันปัญหาแล้ว และคุณสามารถเริ่มการแก้ไขปัญหาฮาร์ดแวร์ หรือเริ่มคิดถึงการอัพเกรดได้

การทดสอบต่อเนื่อง

หากคุณทำตามขั้นตอนการแก้ไขปัญหาด้านบนแล้ว แต่ยังคงระบุปัญหาไม่ได้ ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ที่คุณกำลังเผชิญกับเมนบอร์ดที่ผิดพลาด PSU หรือปัญหาเกี่ยวกับ CPU ของคุณ

การตรวจสอบปัญหาฮาร์ดแวร์เหล่านั้นทั้งหมดก็คือกระบวนการในการแก้ไขปัญหานั่นเอง หากคุณมีชิ้นส่วนสำรองอยู่ ก็ได้เวลาเปลี่ยนชิ้นส่วนเหล่านั้นเพื่อดูว่าแก้ปัญหาได้หรือไม่แล้ว การทดสอบกับเมนบอร์ดอื่นอาจเป็นเรื่องท้าทายมากขึ้น เนื่องจากคุณต้องติดตั้ง CPU และระบบระบายความร้อนใหม่ (สมมุติว่าเข้ากันได้) แต่การมีฮาร์ดแวร์สำรองก็เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหา

หากได้เวลาอัปเกรด ก็มีแหล่งข้อมูลมากมายให้เลือกที่สามารถช่วยคุณค้นหาพีซีสำหรับเล่นเกมเครื่องถัดไปได้