อาจเป็นเรื่องยุ่งยากเมื่อพีซีไม่สามารถบูทอย่างเหมาะสม ไม่ว่าคุณจะกำลังประกอบเครื่องหรือระบบของคุณหยุดทำงานกะทันหัน การทราบว่าจะเริ่มแก้ไขคอมพิวเตอร์ที่จุดไหนอาจเป็นเรื่องยาก ความยากนี้จะยิ่งซับซ้อนขึ้นหากคุณไม่สามารถเข้าถึงระบบปฏิบัติการได้
ในคู่มือนี้ เราจะกล่าวถึงขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการหากคอมพิวเตอร์ของคุณกำลังเปิดทำงานและจอแสดงผลทำงานอยู่ แต่ไม่อนุญาตให้คุณเข้าถึงระบบปฏิบัติการ (OS) และค้างอยู่ที่หน้าจอ BIOS ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น เราจะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยเพื่อพยายามทำให้ระบบของคุณกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
โปรดทราบว่าหากคอมพิวเตอร์ของคุณไม่สามารถเปิดทำงานได้เลย ซึ่งหมายถึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยเมื่อคุณกดปุ่มเปิดเครื่อง หรือเมื่อกดปุ่มแล้วเครื่องเปิดทำงานสักพักหนึ่งแล้วปิดทำงานอีกครั้ง เราได้กล่าวถึงปัญหาจำนวนหนึ่งไว้ที่นี่
ถ้าคุณสามารถเข้าถึงระบบปฏิบัติการได้ แต่ยังคงพบปัญหาอยู่ คุณอาจต้องทำการแก้ไขปัญหาซอฟต์แวร์บางประการ มีแหล่งข้อมูลมากมายที่สามารถใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบปฏิบัติการ
คุณสามารถข้ามไปยังบางส่วนของบทความนี้ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจงของคุณ หากคุณเสียบอุปกรณ์ต่อพ่วง USB ตัวใหม่ เช่น แป้นพิมพ์ เมาส์ หรือชุดหูฟังแล้ว ให้อ่านต่อไป หากคุณเพิ่งเพิ่มอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลใหม่ ให้เริ่มต้นที่ส่วน “การอัพเดท BIOS” หากคอมพิวเตอร์ของคุณไม่เคยบูทสำเร็จมาก่อน ส่วน “ข้อความแสดงข้อผิดพลาดของ BIOS” อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
การกำจัดปัจจัยภายนอก
ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าใดๆ ให้ลองถอดอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เชื่อมต่ออยู่ทั้งหมดออกจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งหมดนอกเหนือจากสายไฟ สายจอแสดงผลที่ต่อกับจอภาพของคุณ และแป้นพิมพ์สำหรับนำทางในเมนู อุปกรณ์ต่อพ่วงที่เชื่อมต่ออยู่ เช่น ฮาร์ดไดรฟ์ภายนอก หรือแม้แต่เมาส์ที่ใช้พลังงานจาก USB อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับพลังงาน ความขัดแย้งของไดรเวอร์ หรือปัญหาเกี่ยวกับคำสั่งบูท และยังทำให้ระบบไม่สามารถบูทเข้าสู่ระบบปฏิบัติการได้
หากระบบของคุณสามารถบูทเพื่อเข้าสู่ระบบปฏิบัติการได้สำเร็จโดยไม่ได้เชื่อมต่ออุปกรณ์ใดๆ ให้ลองเชื่อมต่ออุปกรณ์ทีละชิ้น และรีสตาร์ทจนกว่าคุณจะพบอุปกรณ์ต่อพ่วงที่เป็นสาเหตุของปัญหา
ข้อความแสดงข้อผิดพลาดของไบออส
หลังจากที่คุณกำจัดอุปกรณ์ต่อพ่วงภายนอกออกไปเป็นจำนวนมากแล้ว ก็ถึงเวลาตรวจสอบ BIOS เพื่อดูข้อความแสดงข้อผิดพลาด
บ่อยครั้งที่หาก BIOS ตรวจพบปัญหาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ จะมีการแจ้งให้ทราบก่อนที่คุณจะสามารถเข้าถึงเมนู BIOS ได้ด้วยซ้ำไป ข้อความแสดงข้อผิดพลาดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับ BIOS ที่คุณใช้งานและปัญหาในขณะนั้น แต่นี่คือตัวอย่างบางส่วนสำหรับอ้างอิง:
- ไม่สามารถตรวจพบพัดลม CPU - ปัญหาเกี่ยวกับพัดลมหรือระบบระบายความร้อน
- ข้อผิดพลาดเกี่ยวกับอุปกรณ์บูท - เกิดปัญหาขึ้นกับหนึ่งในไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลของคุณ
หากคุณพบข้อผิดพลาดและไม่สามารถทราบได้ทันทีว่าปัญหาเกี่ยวข้องกับอะไร ให้ดูข้อมูลจำเพาะในเอกสารของเมนบอร์ดของคุณหรือทางออนไลน์ ขั้นตอนนี้อาจเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการระบุว่าปัญหาเกิดขึ้นที่จุดใด และนำไปสู่การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานั้นต่อไป
ถ้าคุณยังคงพบปัญหาในการเข้าสู่ระบบปฏิบัติการหลังจากที่ได้สำรวจและจัดการกับข้อความแสดงข้อผิดพลาดต่างๆ แล้ว อาจถึงเวลาที่จะรีเซ็ต BIOS ของคุณให้เป็นสถานะตามค่าเริ่มต้น
การเรียกคืนค่าเริ่มต้น
คำเตือน: BIOS จะควบคุมการทำงานพื้นฐานของระบบ ดังนั้น โปรดระมัดระวังเมื่อทำการเปลี่ยนแปลง
1. ถ้าคุณยังไม่ได้ไปที่นั่น ให้ไปที่เมนู BIOS ของคุณ กระบวนการนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ผลิต แต่โดยปกติแล้วจะเกี่ยวข้องกับการกดปุ่มบางปุ่มโดยทันทีหลังจากเปิดระบบ ซึ่งมักจะเป็นปุ่ม F2 หรือ DEL ระบบส่วนใหญ่จะแจ้งปุ่มที่เหมาะสมบนหน้าจอทันทีหลังจากการบูท กดปุ่มนี้ซ้ำๆ ทันทีที่คุณเปิดระบบ จากนั้นเมนู BIOS จะปรากฏขึ้น
2. รีเซ็ตเป็นการตั้งค่าเริ่มต้น คุณจะต้องค้นหาดำเนินขั้นตอนนี้โดยอิงจากผู้ผลิตเมนบอร์ดของคุณ แต่ตัวเลือกนี้มักจะอยู่ในส่วน "Save and Exit" (บันทึกและออก) ของเมนู วิธีนี้จะรีเซ็ตการตั้งค่า BIOS ของคุณเป็นค่าเริ่มต้น ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนการกำหนดค่าได้ บันทึกและรีสตาร์ทเครื่องเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงไปใช้
การอัพเดท BIOS ของคุณ
การดำเนินการนี้อาจไม่เกี่ยวข้องหากคุณใช้เครื่องที่ประกอบไว้ล่วงหน้า หรือหากคอมพิวเตอร์ของคุณทำงานตามปกติแล้วจึงเริ่มทำงานผิดพลาด แต่หากคุณกำลังประกอบพีซีเครื่องใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณใช้เมนบอร์ดรุ่นเก่า การอัพเดท BIOS จะมีประโยชน์เมื่อทำการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบูท
เช่นเคย กระบวนการจะแตกต่างกันเล็กน้อยขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ดังนั้นจึงควรค้นหาข้อมูลจำเพาะ ผู้ผลิตเมนบอร์ดของคุณอาจระบุขั้นตอนที่เหมาะสมไว้ในคู่มือของเมนบอร์ดหรือทางออนไลน์ ผู้ผลิตหลายรายมีกระบวนการที่แตกต่างกันไป และเมนบอร์ดระดับไฮเอนด์บางรุ่นอาจมีคุณสมบัติการอัพเดทด้วยตนเอง
การอัพเดทเฟิร์มแวร์อาจแก้ปัญหาที่เกิดจากการนำฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ เช่น ไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลที่มีความจุสูงขึ้น มาจับคู่กับเมนบอร์ดรุ่นเก่า
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล
ระบบปฏิบัติการจะได้รับการติดตั้งบนไดรฟ์จัดเก็บข้อมูล ความล้มเหลวในการโหลดระบบปฏิบัติการดังกล่าวอาจบ่งบอกถึงปัญหาของไดรฟ์ มีสองถึงสามวิธีในการวินิจฉัยปัญหาของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เราจะเริ่มต้นด้วยลำดับการบูท
ลำดับการบูท หรือลำดับความสำคัญของการบูท คือลำดับที่พีซีของคุณจะสแกนตัวเลือกอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่และตัดสินใจว่าจะจัดลำดับความสำคัญให้กับอุปกรณ์ใด หากไดรฟ์ระบบปฏิบัติการไม่ได้อยู่ในลำดับสูงสุดของการบูท อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดเครื่องจึงไม่โหลดระบบปฏิบัติการอย่างเหมาะสม การปรับการตั้งค่าเหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถบูทเครื่องจากดิสก์หรืออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอกได้ ซึ่งอาจมีประโยชน์สำหรับการทำบางอย่าง เช่น การอัพเดท BIOS ที่กล่าวถึงข้างต้น แต่วิธีนี้อาจทำให้เกิดปัญหาหากลำดับการบูทไม่ถูกต้อง หรือหากระบบของคุณไม่พบอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลหลัก
1. นำอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอกออก ในการกำหนดลำดับการบูท ให้รีสตาร์ทระบบของคุณ ถอดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลภายนอกหรือแฟลชไดรฟ์ใดๆ ออก และเข้าสู่ BIOS โดยกดปุ่มที่เหมาะสมระหว่างกระบวนการเริ่มต้นระบบ
2. ไปที่ส่วนการบูทของ BIOS ชื่ออาจแตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่คุณกำลังมองหาส่วนสำหรับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลโดยเฉพาะ ซึ่งอาจเรียกว่าเมนู Boot Priority (ลำดับความสำคัญการบูท) หรือ Boot Order (ลำดับการบูท)
3. การกำหนดไดรฟ์บูตที่เหมาะสม ไดรฟ์หลักควรเป็นไดรฟ์ที่มีระบบปฏิบัติการของคุณติดตั้งไว้ หากคุณไม่ทราบว่าควรบูทจากไดรฟ์ใด คุณอาจต้องดูที่ตัวไดรฟ์เองเนื่องจากความจุและแบรนด์มักจะแสดงชัดเจนอยู่บนสลาก และข้อมูลนี้มักจะถูกอ้างอิงอยู่ภายใน BIOS เช่นกัน หากคุณไม่แน่ใจว่าไดรฟ์ของคุณไดรฟ์ใดมีระบบปฏิบัติการอยู่ ให้ปิดใช้งานไดรฟ์ทั้งหมดยกเว้นไดรฟ์เดียวใน BIOS และดูว่าระบบสามารถบูทได้หรือไม่ หากไม่สามารถบูทได้ ให้ดำเนินการตัดไดรฟ์ออกต่อจนกว่าคุณจะพบไดรฟ์ที่ถูกต้อง จากนั้นคุณสามารถกลับไปที่ BIOS และเปิดใช้งานไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลอื่นๆ อีกครั้ง เพียงดูให้แน่ใจว่าไดรฟ์ที่มีระบบปฏิบัติการของคุณอยู่ที่ตำแหน่งบนสุดของรายการลำดับความสำคัญ
4. บันทึกการเปลี่ยนแปลง เมื่อคุณจัดลำดับความสำคัญของลำดับการบูทอย่างเหมาะสมแล้ว ให้บันทึกการเปลี่ยนแปลงและออกจากเมนู
หาก BIOS ไม่สามารถตรวจพบไดรฟ์ของคุณ ซึ่งหมายความว่าดิสก์ที่มีระบบปฏิบัติการไม่ได้ปรากฏอยู่ในเมนูลำดับการบูท คุณอาจกำลังเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับตัวไดรฟ์เองหรือการกำหนดค่าไดรฟ์นั้น
ปัญหาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์
ถ้าระบบของคุณเคยบูทได้สำเร็จในอดีตแต่ BIOS ไม่สามารถตรวจพบไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลได้อีกต่อไป คุณอาจกำลังเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับไดรฟ์ดังกล่าว
ในกรณีนี้ ถึงเวลาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ ซึ่งจะต้องอาศัยการเปิดฝาเครื่องของคุณ
ก่อนดำเนินการดังกล่าว อย่าลืมถอดปลั๊กจ่ายไฟออก ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณทราบถึงวิธีการที่ปลอดภัยที่สุดในการเปิดเคส และพึงคำนึงอยู่เสมอว่าหากคุณกำลังทำงานกับระบบที่ประกอบไว้ล่วงหน้า การดำเนินการนี้อาจเป็นการละเมิดการรับประกันของคุณ ตรวจสอบกับผู้ผลิตระบบของคุณหากมีข้อกังวลดังกล่าว
เมื่อเปิดระบบของคุณแล้ว ให้ตรวจสอบว่าสายที่ต่อกับไดรฟ์จัดเก็บข้อมูลของคุณมีการเชื่อมต่ออย่างเหมาะสมและไม่หลวม หากคุณใช้ไดรฟ์ M.2 ให้ตรวจสอบว่าไดรฟ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่ในสล็อตที่ถูกต้องของเมนบอร์ดหรือไม่
หากทุกอย่างดูดีแล้ว อาจถึงเวลาในการถอดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลออกและทดสอบกับระบบอื่นที่คุณทราบว่าทำงานได้ตามปกติ หากคุณสามารถติดตั้งไดรฟ์ลงในระบบอื่นที่ทำงานได้ตามปกติเพื่อวัตถุประสงค์ในการทดสอบได้ ก็จะเป็นหนทางที่ดี หากไม่ได้ ก็มีอะแดปเตอร์ USB ที่จะช่วยให้คุณสามารถเสียบไดรฟ์เข้ากับพอร์ต USB ของระบบอื่นเพื่อตรวจสอบว่าระบบนั้นสามารถตรวจพบไดรฟ์หรือไม่ วิธีนี้จะช่วยให้คุณตรวจสอบได้ว่ามีระบบปฏิบัติการอื่นที่สามารถตรวจพบไดรฟ์ได้หรือไม่ และรันการตรวจสอบวินิจฉัยด้วยเครื่องมือเช่น Windows ดิสก์ยูทิลิตี้เพื่อระบุสถานะของไดรฟ์
หากยังไม่สามารถตรวจพบอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแม้ว่าจะติดตั้งในระบบอื่นแล้ว อาจหมายความว่าไดรฟ์นั้นล้มเหลว หากไดรฟ์ไม่ทำงานอีกต่อไป อาจถึงเวลาที่จะเริ่มมองหาไดรฟ์สำหรับเปลี่ยนใหม่
CMOS
แม้ว่าปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่ในบางครั้งปัญหาเกี่ยวกับแบตเตอรี่ CMOS อาจทำให้ระบบของคุณไม่สามารถเริ่มการทำงานได้อย่างเหมาะสม
แบตเตอรี่ CMOS (Complementary Metal–Oxide–Semiconductor) บนเมนบอร์ดของคุณเป็นชิปที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งจัดเก็บข้อมูลระบบที่จำเป็นเอาไว้ เช่น การตั้งค่าพื้นฐานของฮาร์ดแวร์และวันที่ ข้อผิดพลาดของ CMOS มักจะระบุด้วยนาฬิกาที่มีการรีเซ็ตเป็นประจำ หรือข้อความแสดงข้อผิดพลาด BIOS ที่เกี่ยวข้องกับ CMOS อายุการใช้งานของแบตเตอรี่เหล่านี้มักจะอยู่ที่ประมาณสิบปีภายใต้สภาวะการใช้งานปกติ แต่ก็อาจแตกต่างออกไป หากคุณใช้เมนบอร์ดรุ่นเก่าหรือเมนบอร์ดมือสอง คุณควรตรวจสอบซ้ำว่าแบตเตอรี่ทำงานได้อย่างถูกต้องหรือไม่ เมนบอร์ดเหล่านี้มีราคาค่อนข้างถูก และกระบวนการเปลี่ยนชิ้นส่วนมักจะไม่ซับซ้อน
1. ค้นหาแบตเตอรี่ ค้นหา CMOS บนเมนบอร์ดของคุณ (ซึ่งเป็นแบตเตอรี่สีเงินที่มีรูปร่างแบนเหมือนกับเหรียญ) หากคุณมีปัญหาในการค้นหาเมนบอร์ด ให้ศึกษาข้อมูลจากเอกสารของเมนบอร์ด
2. ใส่แบตเตอรี่ใหม่อีกครั้ง ก่อนพยายามทำการเปลี่ยน ให้ลองดึงแบตเตอรี่ออกมาแล้วใส่ลงไปใหม่ การถอดแบตเตอรี่ควรทำได้อย่างง่ายดาย อาจมีสลักหรือคลิปที่ยึดแบตเตอรี่อยู่กับที่ แต่โดยปกติแล้วจะสามารถถอดออกได้ด้วยมือหรือใช้ไขควงงัดเบาๆ และเปลี่ยนใหม่ด้วยวิธีเดียวกัน
3. ถอดและเปลี่ยนแบตเตอรี่ CMOS หากการถอดและใส่แบตเตอรี่ใหม่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ให้ลองเปลี่ยนแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ CMOS ที่ใช้กันมากที่สุดคือ CR2032 แต่เมื่อคุณถอดแบตเตอรี่ออก อย่าลืมสังเกตคุณสมบัติของแบตเตอรี่เพื่อหาแบตเตอรี่ใหม่ที่เหมือนกัน
4. รีสตาร์ทระบบของคุณ หลังจากใส่หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่เรียบร้อย แล้วให้รีสตาร์ทระบบของคุณ และเข้าสู่ BIOS จากนั้นให้รีเซ็ตการตั้งค่าวันที่และเวลา บันทึก และออกจาก BIOS
ฮาร์ดแวร์อื่นๆ
นอกเหนือจากอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าฮาร์ดแวร์อื่นๆ กำลังทำให้การบูทล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการระบุโดยข้อความแสดงข้อผิดพลาด คุณอาจลองตรวจสอบสายเคเบิล และสร้างความมั่นใจว่าฮาร์ดแวร์อื่นๆ ทั้งหมดของคุณอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง หากไม่มีอุปกรณ์อื่นใดที่ทำงานได้ คุณสามารถทำตามคู่มือนี้สำหรับวิธีการแบบทีละขั้นตอนสำหรับการทดสอบฮาร์ดแวร์ของคุณทีละชิ้น และดูว่าวิธีการนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่
การทดสอบเพิ่มเติม
หากคุณได้พยายามทำตามคำแนะนำด้านบนทั้งหมดแล้วแต่ยังคงค้างอยู่ที่หน้าจอ BIOS การทดสอบการกำหนดค่าฮาร์ดแวร์ปัจจุบันของคุณด้วยเมนบอร์ดใหม่อาจเป็นขั้นตอนต่อไปที่มีประโยชน์ วิธีนี้ต้องอาศัยการติดตั้ง CPU, ระบบระบายความร้อน และส่วนประกอบที่จำเป็นทั้งหมดอีกครั้ง แต่จะช่วยตัดเมนบอร์ดออกจากสาเหตุของปัญหาได้
การทดสอบด้วยฮาร์ดแวร์ใหม่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมอย่างมากหากคุณมีตัวเลือกดังกล่าว และจะมีประโยชน์อย่างยิ่งถ้า BIOS แนะนำให้คุณแก้ไขของส่วนประกอบที่เฉพาะเจาะจง
ปัญหาส่วนใหญ่ของพีซีนั้นสามารถแก้ไขได้ แต่หากคุณกำลังทำงานกับระบบที่เก่าแล้ว ก็อาจถึงเวลาที่จะอัพเกรด ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์มีอายุการใช้งานยาวนานเมื่อได้รับการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม แต่เนื่องจากเทคโนโลยีพีซีพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ส่วนประกอบที่เชื่อถือได้ที่สุดก็จำเป็นต้องได้รับการอัพเดทเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดของผู้ใช้