โปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ทำงานอย่างไร

การรองรับเจนเนอเรชั่นถัดไป การโอเวอร์คล็อกที่ดียิ่งขึ้น ดีไซน์แบบไฮบริดอันล้ำสมัย เรียนรู้ว่าเดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ มีหลักการทำงานอย่างไร

จุดเด่น:

  • เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ นำ Performance-cores (P-cores) อันทรงพลังมาทำงานคู่กับ Efficient-cores (E-cores) เพื่อมอบประสบการณ์การเล่นเกมและการคำนวณผลที่ลื่นไหลยิ่งขึ้น

  • Intel® Thread Director จะทำการตัดสินใจกำหนดเวลาสำหรับแต่ละเวิร์คโหลดอย่างเหมาะสมที่สุดเมื่อกำหนดเธรดให้กับคอร์

  • เลือกได้ว่าจะใช้ RAM DDR4 หรือ DDR5 ที่ใหม่กว่า

  • สัมผัสความเร็วการรับส่งข้อมูลที่ล้ำยุคด้วยการรองรับ GPU และ SSD มาตรฐาน PCIe 5.0

author-image

โดย

นอกจากความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่ดีขึ้นและจำนวนคอร์ที่มากกว่าแล้ว เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ยังมีเทคโนโลยีต่างๆ ที่เสริมประสิทธิภาพให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก และที่โดดเด่นที่สุดก็คือดีไซน์สถาปัตยกรรมแบบไฮบริดล่าสุดของ Intel เทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้เปิดตัวครั้งแรกในเจนเนอเรชั่น 12 โดยเพิ่มประสิทธิภาพของคอร์และให้การเพิ่มประสิทธิภาพเวิร์คโหลดแบบอัจฉริยะด้วยการรวมสถาปัตยกรรมขนาดเล็กของคอร์ 2 ตัวไว้ในแผงวงจรเดียว ในขณะเดียวกัน Intel® Thread Director1 ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระหว่างที่ทำงานแบบมัลติทาสกิ้ง

อีกส่วนสำคัญที่เพิ่มเข้ามาคือการรองรับมาตรฐานและข้อกำหนดอันล้ำสมัยอย่างครอบคลุม บนแพลตฟอร์ม Intel® Core™ ล่าสุด คุณจะได้ใช้งานส่วนประกอบต่างๆ ของพีซีที่ทรงพลังและเป็นรุ่นล่าสุด อาทิ หน่วยความจำ DDR5, อุปกรณ์ PCIe 5.0 และ 4.0, เราเตอร์ Wi-Fi 6E ที่รองรับการเชื่อมต่อที่เร็วกว่าเกือบ 3 เท่า2 และอุปกรณ์ภายนอกและจอแสดงผลที่ดีที่สุดจากการรองรับ Thunderbolt 4

สงสัยใช่ไหมว่าทั้งหมดนี้มีประโยชน์อะไรสำหรับการเล่นเกม หลักๆ ก็คือคุณสามารถทำอะไรได้มากขึ้นด้วยเดสก์ท็อปหรือแล็ปท็อปสำหรับเล่นเกม

มาเจาะลึกถึงความล้ำสมัยที่สำคัญๆ กัน

สำรวจตัวเลือกต่างๆ ของ Intel® Core™ CPU ได้เลย

สถาปัตยกรรมไฮบริดเพื่อประสิทธิภาพคืออะไร

เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ จะปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการทำงานและการเล่นของคุณ เมื่อเล่นเกม โปรเซสเซอร์จะป้องกันไม่ให้งานเบื้องหลังเข้ามาขัดจังหวะหรือใช้คอร์ประสิทธิภาพสูง ทำให้เล่นได้อย่างไหลลื่นยิ่งขึ้น เมื่อคุณใช้กับงานประมวลผลทั่วไป เช่น การทำงานกับวิดีโอ 4K ไปพร้อมๆ กับฟังเพลงและบริหารจัดการช่องของคุณ เครื่องของคุณจะให้ประสบการณ์ใช้งานแบบทั่วทั้งระบบที่ลื่นไหลยิ่งขึ้น

เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ผนึกรวมคอร์สองประเภทเข้าไว้ด้วยกันในแผงวงจรเดียว ซึ่งได้แก่ Performance-cores (P-cores) อันทรงพลังและ Efficient-cores (E-cores) ที่ยืดหยุ่น คอร์ทั้งสองประเภทนี้มีหน้าที่ต่างกัน

Performance-cores คือ:

  • คอร์ประสิทธิภาพสูงที่มีขนาดภายนอกใหญ่ขึ้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ความเร็วสูงสุดโดยที่ยังคงประสิทธิภาพไว้
  • ปรับแต่งมาเพื่อความถี่เทอร์โบและ IPC (คำสั่งต่อรอบ) สูง
  • เหมาะสำหรับการประมวลผลงานแบบเธรดเดียวอันหนักหน่วงที่เอนจิ้นเกมมากมายต่างต้องการใช้
  • สามารถใช้เทคโนโลยี Hyper-Threading ที่ช่วยให้รันซอฟต์แวร์ 2 เธรดพร้อมกันได้

Efficient cores คือ

  • มีขนาดภายนอกที่เล็กกว่า โดยจะเห็นได้ว่าพื้นที่สำหรับ P-cores หนึ่งตัวสามารถรองรับ E-cores ได้หลายตัว
  • ออกแบบมาเพื่อให้ประสิทธิภาพ CPU สูงสุด โดยวัดจากค่าประสิทธิภาพต่อวัตต์
  • เหมาะสำหรับประสิทธิภาพมัลติเธรดแบบปรับขนาดได้ โดยทำงานกับ P-cores ได้อย่างสอดคล้องกันเพื่อเร่งความเร็วให้กับงานที่ต้องใช้คอร์อย่างหนักหน่วง (เช่น ในระหว่างการเรนเดอร์วิดีโอ)
  • เพิ่มประสิทธิภาพมาเพื่อให้รันงานเบื้องหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานที่เล็กกว่าสามารถจ่ายออกไปยัง E-cores ได้ เช่น การจัดการ Discord หรือซอฟต์แวร์แอนตี้ไวรัส เพื่อปล่อยให้ P-cores ดำเนินการขับเคลื่อนประสิทธิภาพการเล่นเกมได้อย่างอิสระ
  • สามารถรันซอฟต์แวร์เธรดเดียวได้

Hyper-threading คืออะไร ค้นหาได้ที่นี่

Intel® Thread Director คืออะไร

Intel® Thread Director มอบความมหัศจรรย์เบื้องหลังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแบบไฮบริดให้ถึงขีดสุด

Thread Director ที่ติดตั้งมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์โดยตรง1จะใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อกำหนดเวลาในการจ่ายงานไปยังคอร์ที่เหมาะสมในเวลาที่ควรจะเป็น (แทนที่จะอิงตามกฎแบบคงที่) ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่า Performance-cores และ Efficient-cores จะทำงานอย่างสอดคล้องกัน งานเบื้องหลังจะไม่ทำให้เครื่องคุณช้า และคุณสามารถเปิดแอปพร้อมๆ กันได้มากขึ้น

การทำงานของ Intel® Thread Director เป็นดังนี้

  • จะตรวจสอบการผสมคำสั่งรันไทม์ของแต่ละเธรดและสถานะของแต่ละคอร์ด้วยความแม่นยำระดับนาโนวินาที
  • ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรันไทม์แก่ระบบปฏิบัติการเพื่อทำการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุดให้กับทุกเวิร์กโหลด
  • โดยจะปรับคำแนะนำแบบไดนามิกตาม Thermal Design Point (TDP) ของระบบ สภาพแวดล้อมการทำงาน และการตั้งค่าพลังงาน

ด้วยการระบุคลาสของเวิร์คโหลดแต่ละรายการและการใช้กลไกการให้คะแนนคอร์ด้านพลังงานและประสิทธิภาพ ทำให้ Intel® Thread Director ช่วยจัดกำหนดเวลาเธรดให้กับระบบปฏิบัติการบนคอร์ที่ดีที่สุดสำหรับประสิทธิภาพหรือประสิทธิผล

ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ก็คือประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเมื่อเล่นเกมที่ต้องใช้การประมวลผลหนักๆ เช่น การสตรีมเกมและบันทึกฟุตเทจการเล่นเกมไปพร้อมๆ กัน คุณจะได้สัมผัสประสบการณ์การเล่นเกมที่ลื่นไหลยิ่งขึ้นด้วยค่า FPS ที่สูงขึ้น ผู้ติดตามของคุณก็จะได้ประสบการณ์รับชมที่ดียิ่งกว่าเดิมจากสตรีมคุณภาพที่สูงขึ้น และการบันทึกภาพการเล่นเกมของคุณก็จะดูดียิ่งขึ้น

ประโยชน์ของเทคโนโลยี Intel® Turbo Boost Max 3.0 คืออะไร

เทคโนโลยี Intel® Turbo Boost Max 3.0 ยกระดับประสิทธิภาพการทำงานที่ใช้เธรดน้อยให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากรูปแบบภายในแผงวงจรระหว่างการผลิตทำให้เกิดคอร์ที่เร็วกว่าแบบอื่นๆ (รองรับประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและแรงดันไฟฟ้าที่ต่ำกว่า) P-cores บางตัวจึงสามารถทำงานได้ดีกว่าตัวอื่นๆ

Turbo Boost Max 3.0 ใช้ประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านี้โดยการระบุ P-cores ที่ดีที่สุดภายในโปรเซสเซอร์และการกำหนดเส้นทางทำงานให้กับคอร์เหล่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องเพิ่มแรงดันไฟฟ้า ทำให้ CPU สามารถทำงานตามข้อกำหนด

Turbo Boost ต่างจากการโอเวอร์คล็อกอย่างไร ดูบทความของเราที่นี่

หน่วยความจำ DDR5 คืออะไร

แพลตฟอร์ม Intel® Core™ ให้ตัวเลือกที่สำคัญกับคุณในส่วนของหน่วยความจำว่าจะใช้ RAM DDR4 หรือ DDR5

DDR5 เป็นข้อกำหนดรุ่นต่อไปสำหรับ RAM และมาพร้อมกับการปรับปรุงความเร็วและประสิทธิภาพมากมายเมื่อเปรียบเทียบกับ DDR4 ซึ่งเป็นมาตรฐานปัจจุบัน

  • ชุดแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้นด้วย Burst Length เป็นสองเท่า ซึ่งหมายถึงจำนวนบิตที่สามารถอ่านได้ต่อรอบเพิ่มเป็นสองเท่า
  • DDR5 สามารถมีความจุของ RAM ต่อโมดูลได้สูงสุด 128GB ในขณะที่ DDR4 มีได้เพียง 32GB
  • DDR5 จะเพิ่มจำนวนกลุ่มหน่วยความจำเป็นสองเท่าและเพิ่มความเร็วที่กลุ่มหน่วยความจำสามารถรีเฟรชได้

เมื่อใช้เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ คุณจะมีตัวเลือกในการสร้างระบบโดยใช้ RAM DDR4 ที่ผ่านการทดลองและทดสอบแล้ว หรือ DDR5 ใหม่ ถ้าคุณเลือกที่จะใช้ DDR4 ต่อไปในตอนนี้ โปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ก็ยังคงมีตัวเลือกให้คุณอัปเกรดเป็น DDR5 ได้เสมอ

หลายๆ เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ จะมาพร้อมการรองรับหน่วยความจำแบบปลดล็อค คุณจึงปรับเพิ่มประสิทธิภาพ RAM อย่างละเอียดได้อย่างมีอิสระมากขึ้น ใช้โปรไฟล์ DDR5 บน Intel® Extreme Memory Profile 3.0 (XMP 3.0) เพื่อโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำของคุณอย่างง่ายดาย และสร้างโปรไฟล์แบบกำหนดเองใหม่เพื่อปรับพฤติกรรม

PCIe 5.0 คืออะไร

เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ล่าสุดเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไปสู่ PCIe 5.0 PCIe 5.0 เพิ่มแบนด์วิดท์เป็นสองเท่าของ 4.0 ซึ่งหมายความว่าระบบของคุณจะพร้อมสำหรับ SSD และ GPU แบบแยกรุ่นใหม่

PCIe คือบัสส่วนขยาย ซึ่งใช้ความสามารถในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงประสิทธิภาพสูงเข้ากับเมนบอร์ด เช่น SSD และการ์ดกราฟิก PCIe แต่ละรุ่นจะมีการส่งถ่ายข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดย PCIe 5.0 ให้ความเร็วการถ่ายโอนข้อมูลสูงสุดตามทฤษฎีที่ 32 GT/s

ข้อได้เปรียบหลักของการปรับใช้งาน PCIe 5.0 ได้แก่

  • สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์รุ่นก่อนหน้าได้ทั้งหมด ทั้งรุ่น 4.0 และ 3.0
  • แบนด์วิดท์เป็นสองเท่าของรุ่น 4.0 และเป็นสี่เท่าของรุ่น 3.0
  • CPU PCIe 5.0 สูงสุด 16 เลน และ CPU PCIe 4.0 สูงสุด 4 เลน พร้อมชิปเซ็ต Intel® 700 ซีรีส์ที่มีเลน PCIe 4.0 มากกว่าสูงสุด 8 เลน

อ่านต่อที่นี่เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลน CPU PCIe และ PCIe 5.0

เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ รองรับการโอเวอร์คล็อกอย่างไร

สถาปัตยกรรมของเดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ล่าสุดช่วยให้ผู้ใช้มีทางเลือกในการปรับแต่งขั้นสูงสำหรับโปรเซสเซอร์แบบปลดล็อค การควบคุมการโอเวอร์คล็อกแยกกันสำหรับทั้ง P-cores และ E-cores ช่วยให้คุณปรับรูปแบบการทำงานของคอร์ได้ตามที่คุณต้องการ

ใช้ยูทิลิตีการโอเวอร์คล็อกในเวอร์ชันล่าสุดของ Intel เพื่อใช้ระบบการเล่นเกมของคุณได้อย่างเต็มประโยชน์สูงสุด ดังนี้

  • Intel® Extreme Tuning Utility (Intel® XTU) มาพร้อมชุดเครื่องมือขั้นสูงสำหรับผู้ที่สนใจการโอเวอร์คล็อกและนักโอเวอร์คล็อกมากประสบการณ์ โดยเวอร์ชันล่าสุดช่วยให้คุณมีทางเลือกในการควบคุมการโอเวอร์คล็อกได้มากขึ้นด้วยปุ่มปรับใหม่ๆ อันล้ำสมัยสำหรับ E-cores และข้อมูลการส่งข้อมูลระยะไกลสำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพอย่างละเอียด3
  • Intel Speed Optimizer (ISO) เป็นเครื่องมือแบบคลิกเดียวที่สร้างไว้ใน Intel® XTU เวอร์ชันล่าสุด ซึ่งทำการโอเวอร์คล็อกอัตโนมัติหลังจากวิเคราะห์ DNA ของประสิทธิภาพแต่ละอย่างของโปรเซสเซอร์ของคุณ
  • Intel® Extreme Memory Profile (XMP 3.0) ช่วยให้คุณโอเวอร์คล็อก RAM DDR5 ได้อย่างง่ายดาย เทคโนโลยี XMP 3.0 ที่มีอยู่เฉพาะใน DDR5 มาพร้อมชุดการปรับปรุงการโอเวอร์คล็อก RAM รวมไปถึงโปรไฟล์สูงสุด 5 รายการ, โปรไฟล์แบบปรับแต่งได้ 2 รายการ และการควบคุมแรงดันไฟฟ้าเพิ่มเติม
  • Intel® Dynamic Memory Boost ที่เข้าใช้งานได้จากการประยุกต์ใช้งาน Intel® XMP จะสลับไปใช้งานโปรไฟล์หน่วยความจำความถี่สูงในระหว่างการประยุกต์ใช้งานที่ต้องใช้การประมวลผลหนักๆ เช่น การเล่นเกม การโอเวอร์คล็อก RAM ของคุณตามต้องการ แล้วย้อนกลับไปที่ข้อมูลจำเพาะเริ่มต้น รองรับโมดูลหน่วยความจำ DDR4 และ DDR5

ดูวิธีการโอเวอร์คล็อกเดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ แบบปลดล็อคที่นี่

Intel® Wi-Fi 6E คืออะไร

Intel® Wi-Fi 6E คือการก้าวสำคัญที่สุดสำหรับ Wi-Fi ในแบบที่ไม่มีให้เห็นมานาน ด้วยการรองรับการเชื่อมต่อที่เร็วกว่าเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับ Wi-Fi มาตรฐาน2 ประเด็นหลักที่น่าสนใจของมาตรฐานใหม่นี้ก็คือการใช้ย่านสเปกตรัม 6GHz อุปกรณ์ Wi-Fi 6E สามารถทำงานได้ในย่านความถี่ 6GHz ซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลได้เร็วยิ่งกว่าและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น เนื่องจากจำนวนช่องสัญญาณและความกว้างของช่องสัญญาณที่เพิ่มขึ้น

Wi-Fi 6E ให้:

  • ความเร็วไร้สายมาตรฐาน Gig+ สูงสุด 1700 Mbps2 ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมที่สุด มากกว่า Wi-Fi 5 เกือบ 3 เท่า
  • ความหน่วงต่ำลงสูงสุด 75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ Wi-Fi 54
  • ย่านความถี่ 6GHz สุดพิเศษ ที่ป้องกันการรบกวนจากอุปกรณ์เดิม

Intel® Wi-Fi 6E มีประโยชน์อะไรกับการเล่นเกม ในกรณีของผู้ใช้งานระดับเริ่มต้น คุณจะพบว่าความล่าช้าลดลงขณะเล่นเกมบนระบบที่ใช้การ์ด Intel® Wi-Fi 6E เนื่องจากระบบรับส่งข้อมูลโดยใช้ย่านความถี่ 6GHz ใหม่ที่กว้างกว่า เครือข่ายจึงมีความแออัดน้อยกว่า ผลที่ได้ก็คือหมดปัญหาด้านการเชื่อมต่อที่พบบ่อยในการเล่นเกมออนไลน์ เช่น การสูญเสียข้อมูลและค่า Ping เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เพื่อการเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้อย่างยิ่งผ่าน Wi-Fi กับเซิร์ฟเวอร์เกม ให้มองหาระบบ Intel® Core™ ที่ใช้การ์ด Intel® Killer™ Wi-Fi 6E การ์ดเหล่านี้ผ่านการออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความล่าช้าที่พบในการเล่นเกมโดยเฉพาะ

การ์ดเหล่านี้มาพร้อมหลากหลายเทคโนโลยี อาทิ กลไกการจัดระดับความสำคัญ Intel® Killer™ ซึ่งจัดลำดับการรับส่งข้อมูลการเล่นเกมในเครือข่ายของคุณโดยอัตโนมัติ และ Intel® Killer™ DoubleShot™ Pro ที่ช่วยให้ระบบของคุณสามารถใช้การเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือ Ethernet ร่วมกันได้เพื่อการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Intel® Wi-Fi 6E ได้ที่นี่

Thunderbolt™ 4 คืออะไร

เดสก์ท็อปโปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ล่าสุดรองรับเทคโนโลยี Thunderbolt™ 4 ซึ่งเป็นอินเทอร์เฟซการเชื่อมต่อผ่านสายแบบอเนกประสงค์ที่พัฒนาขึ้นโดย Intel

ด้วยแบนด์วิดธ์แบบสองทิศทางที่ความเร็ว 40Gbps พอร์ต Thunderbolt™ 4 จึงช่วยให้คุณสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงได้เป็นจำนวนมาก เช่น SSD ภายนอกแบบความเร็วสูง, จอภาพสำหรับเล่นเกม 240Hz ที่ 1080p และอุปกรณ์บันทึกวิดีโอในกรณีที่คุณทำการสตรีม เนื่องจากเทคโนโลยีนี้เข้ากันได้กับอุปกรณ์หลากหลายประเภท (รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ DisplayPort, USB4, PCIe ภายนอก และ Thunderbolt แบบดั้งเดิม) คุณจึงสามารถใช้เป็นฮับสำหรับอุปกรณ์ทั้งหมดของคุณได้

เนื่องด้วยเหตุผลเหล่านี้ พอร์ต Thunderbolt™ 4 จึงเหมาะสำหรับการสร้างสมรภูมิ สถานีงาน หรือระบบการสตรีมได้ อีกหนึ่งความเป็นไปได้ก็คือการเปลี่ยนแล็ปท็อปให้เป็นประสบการณ์ใช้งานแบบเดสก์ท็อปด้วยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น จอภาพคู่ คีย์บอร์ดแบบกลไก ไดรฟ์ภายนอก หรือไมโครโฟน โดยสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้สูงสุด 5 เครื่องด้วยพอร์ต Thunderbolt™ 4 เพียงพอร์ตเดียว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์อันมากมายของ Thunderbolt™ 4 ได้ที่นี่

ประสิทธิภาพระดับก้าวกระโดด

โปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ล่าสุดไม่เพียงแต่ให้ประสิทธิภาพชั้นยอดเท่านั้น แต่ยังพร้อมมอบประสิทธิภาพในเวลาและในจุดที่คุณต้องการที่สุดอีกด้วย ไม่ว่าคุณจะต้องการเพิ่มค่า FPS หรือทำหลายสิ่งพร้อมกันได้มากขึ้นในเวิร์คโฟลว์การสร้างสรรค์ของคุณ สถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงที่ใช้ P-cores/E-cores ร่วมกันก็พร้อมตอบสนองคุณเสมอ

นอกจากการพัฒนาด้านประสิทธิภาพแล้ว โปรเซสเซอร์ Intel® Core™ ยังมาพร้อมการรองรับมาตรฐานล่าสุดทางเทคโนโลยีอีกด้วย ระบบ Intel® Core™ จะปลดล็อค DDR5, PCIe 5.0, Wi-Fi 6E และ Thunderbolt™ 4 ซึ่งล้วนแต่มอบประสบการณ์ด้านการคำนวณผลที่ดีที่สุดได้ ทั้งในปัจจุบันและอีกหลายๆ ปีต่อจากนี้

ค้นหาแล็ปท็อปหรือเดสก์ท็อปสำหรับเล่นเกมที่เหมาะกับคุณที่สุด

คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ไม่ เมนบอร์ดของคุณจำเป็นต้องรองรับ RAM ประเภทที่คุณตั้งใจจะใช้งาน แม้ว่าทั้งโมดูล DDR4 และ DDR5 จะมี 288 พิน แต่ด้วยเค้าโครงที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำไปติดตั้งในช่องเสียบ DIMM เดียวกันได้